top of page
32_IMG_3135.jpg

คือผลงานของพระจันทร์
คือลมหายใจของทะเล

เรื่อง และภาพ : บุญฤทธิ์ ไตรสุธรรมพร

มีบางคนบอกว่ามหาสมุทรนั้นลึกลับพอๆ กับพระจันทร์ ทั้งที่สองสิ่งนี้อยู่ใกล้ตัวมนุษย์กว่าที่คิด เรามองเห็นพระจันทร์บนท้องฟ้าไม่น้อยกว่า 15 คืนในหนึ่งเดือน แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีมนุษย์คนไหนไปถึงอีกด้านของดวงจันทร์เลย ส่วนโลกของเราก็มีมหาสมุทรครอบคลุมพื้นที่ไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ส่วน แต่เรายังสำรวจมหาสมุทรได้ไม่ถึง 1 ใน 10 

 

แต่มหาสมุทรและพระจันทร์นั้นกลับเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น และต่างสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตทั้งคนและสัตว์อย่างแยกไม่ออก เพราะพระจันทร์นั้นเป็นลมหายใจของท้องทะเล

 

พระจันทร์เต็มดวงกำลังเตรียมลับเส้นขอบฟ้าหลังเกาะหลีเป๊ะในตอนเช้าตรู่ ขณะที่ผม และพวกเรากำลังเตรียมออกเดินทางไปดำน้ำด้วยเรือหางยาวหัวโทงลำขนาดกลาง มุ่งหน้าสู่เกาะลูกโดดเล็กๆ ที่เป็นเกาะบริวารของเกาะหลีเป๊ะซึ่งเป็นจุดหมายของเราในไดฟ์เช้านี้ 

 

ผมว่าพระจันทร์เต็มดวงนั้นสวยเป็นพิเศษเมื่อมองจากในทะเล แต่สำหรับนักดำน้ำแล้วจันทร์เต็มดวงคือสัญญาณของความทุลักทุเลในการดำน้ำที่กำลังจะมาถึง เพราะพระจันทร์มีแรงดึงดูดมหาศาล สร้างปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลงในมหาสมุทร แต่เพราะน้ำในมหาสมุทรบนโลกนั้นมีเท่าเดิม ดังนั้นเมื่อมหาสมุทรในซีกโลกหนึ่งน้ำขึ้นสูง มหาสมุทรในอีกหนึ่งโลกหนึ่งจะลดต่ำ ระหว่างที่มวลน้ำกำลังเดินทางจากซีกโลกหนึ่งไปยังอีกซึกโลกหนึ่ง จึงเกิดกระแสน้ำไหลที่เดินทางไปทั่วโลกใบเล็กๆ ของเรา

 

เพราะมนุษย์เราถูกออกแบบมาให้เดินบนบกเป็นหลัก กระแสน้ำจึงเป็นอุปสรรคของการดำน้ำ แต่สำหรับสิ่งมีชีวิตที่เกิดในทะเลและอยู่ในทะเล  กระแสน้ำคือลมหายใจ คือสิ่งที่สร้างสรรค์และเติมเต็มโลกใต้น้ำให้สวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองหินตาลังที่เรากำลังเดินทางไป คือจุดดำน้ำที่สวยติดอันดับต้นๆ ของทะเลไทย อันเป็นผลงานของพระจันทร์ที่สร้างสรรค์โลกหลากสีผ่านสื่อกระแสน้ำ และนักดำน้ำที่อยากมาชื่นชมความงามของกองหินตาลัง ต่างก็เตรียมใจยอมรับความเชี่ยวกรากของกระแสน้ำที่นี่โดยดุษณี

 

กองหินตาลังและเกาะตาลังอยู่ใกล้เกาะหลีเป๊ะแค่พริบตา ใช้เวลาเดินทางแค่ราว 15 นาที เรือหางยาวก็มาหยุดนิ่งอยู่ที่หมายทุ่นสีส้มกลางน้ำ ตอนนี้รอบตัวมีแต่ความเงียบ ยามเช้านี้มีเพียงเรือหางยาวลำเดียวที่มาดำน้ำแถวนี้ และเรือหางยาวลำนี้ก็น่าจะเป็นลำสุดท้ายของร้านดำน้ำสคูบ้าบนเกาะหลีเป๊ะที่ยังใช้เรือพื้นบ้านในการออกไปดำน้ำ  ที่จริงแล้วผมออกจะชอบการดำน้ำด้วยเรือลำเล็กๆ แบบนี้ เพราะมันช่างให้ความรู้สึกที่สบายและผ่อนคลายแบบชาวเกาะ ผมคิดว่าเรือหางยาวหัวโทงแบบนี้แล่นสู้คลื่นได้ดีกว่าเรือลำใหญ่ หรือส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะความเล็กกระทัดรัดของลำเรือที่เปิดโอกาสให้เรามองเห็นทะเลได้รอบตัว จึงไม่รู้สึกอึดอัด ส่วนบรรยากาศการเตรียมตัวลงดำน้ำนั้นก็ดูง่ายๆ แค่จัดแจงสวมอุปกรณ์ให้เรียบร้อย..จากนั้นก็พาตัวขยับไปนั่งบนกราบเรือแล้วม้วนตัวหงายหลังลงน้ำ... 

11_DSC2851.jpg

เอกลักษณ์ของกองหินตาลัง คือปะการังอ่อนหลากสีสัน และกัลปังหารูปร่างสวยงาม ทำให้ที่นี่กลายเป็นจุดดำน้ำที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดแห่งหนึ่งในทะเลไทย

นักดำน้ำในดงปะการังอ่อนที่บานฟูเพื่อดักจับธาตุอาหารแพลงตอนที่มีมากเป็นพิเศษ ในช่วงเวลาที่กระแสน้ำรุนแรง สังเกตได้จากฟองอากาศที่ลอยลู่ไปตามกระแสน้ำ

11_DSC9921-Edit.jpg
11_DSC9935.jpg
11_DSC2905.jpg

อันที่จริงแล้วการดำน้ำที่กองหินตาลังในช่วงวันพระจันทร์เต็มดวงนั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก เพราะโลกใต้ทะเลในช่วงเวลานี้นั้นถูกครอบงำด้วยกระแสน้ำบ้าคลั่งเหมือนมีมือปีศาจมาควนน้ำในมหาสมุทรจนเราต้องออกแรงเตะตีนกบเยอะเป็นพิเศษเพื่อพาตัวเองเคลื่อนที่ไปให้ได้ แต่ในช่วงเวลาแบบนี้แหละ ที่กัลปังหาและปะการังอ่อนที่กองหินตาลังจะสวยเป็นพิเศษ เพราะสองสิ่งนี้เกิดมาเพื่ออยู่คู่กับกระแสน้ำ ในช่อปะการังอ่อนหนึ่งช่อที่แลดูคล้ายขนมปุยฝ้ายสีสวยนั้นเต็มไปด้วยตัวโพลิปปะการังขนาดเล็กๆ เต็มไปหมด และมันจะเบ่งบานฟูฟ่องชูหนวดโพลิปโบกสะบัดดักจับกินธาตุอาหารและแพลงตอนที่ถูกพัดพามาพร้อมกระแสน้ำ ส่วนกัลปังหาที่ถูกออกแบบรูปทรงสัณฐานให้เป็นผืนพัด ก็เพื่อแผ่กว้างดักจับอาหารจากกระแสน้ำเช่นเดียวกัน ตอนนี้โลกรอบตัวเราเหมือนสวนดอกไม้ใต้ทะเล แต่เป็นสวนดอกไม้ที่อยู่ท่ามกลางลมพายุแห่งกระแสน้ำ

กองหินตาลังนั้นสวยอย่างสมบูรณ์แบบ แต่ผมอยากถ่ายภาพที่นี่ให้สมบูรณ์แบบกว่าที่เคยทำได้ ผมจึงอยากกลับมาที่นี่หลายต่อหลายครั้งเพื่อตั้งใจถ่ายภาพให้ดีที่สุด โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นสัญลักษณ์ของกองหินตาลัง มีแท่งหิน 4-5 แท่งตั้งเรียงล้อมกัน บางคนบอกว่ารูปร่างคล้ายแท่งหินสโตนเฮนจ์ที่ประเทศอังกฤษ แท่งหินประหลาดที่มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์สร้างขึ้นอย่างเป็นปริศนา แต่กองหินสโตนเฮนจ์แห่งหลีเป๊ะนั้นก็สวยงามเหมือนมีมนุษย์หรือยักษ์ที่ไหนมาจัดวางมันไว้ ทั้งที่จริงแล้วมันคือผลงานของธรรมชาติล้วนๆ ก้อนหินแต่ละก้อนมีปะการังอ่อนขึ้นปกคลุมไปทั่ว แซมด้วยกัลปังหาในตำแหน่งที่พอดิบพอดี จนอดคิดไม่ได้ว่าคงมีใครเอาเมล็ดดอกไม้มาโปรยเอาไว้ เอาต้นไม้ใหญ่มาปลูกในตำแหน่งจัดวางอันเหมาะสม จนกลายเป็นสวนแนวตั้งที่สวยงามจนเกิดบรรยาย

 

ถ้าถามว่าชอบจุดดำน้ำไหนมากที่สุดในทะเลไทย ผมคงตอบโดยไม่ลังเลว่าที่นี่ ที่นี่สวยแบบไม่ต้องเลือกมองหามุม สวยเหมือนสวรรค์ แต่ถ้าสมมุติว่าเราได้ไปเดินเล่นบนสวรรค์ มันอาจจะสูงเกินไปจนไม่มีอากาศหายใจ เราก็คงได้ชื่นชมความสวยงามของสวรรค์ได้ไม่นาน 

 

กองหินตาลังก็เช่นกัน สำหรับผม ที่นี่เหมือนสวรรค์ที่ไม่เคยได้ใช้เวลาเต็มที่กับการชื่นชมความงามเลย เพราะอากาศในถังนั้นไม่เคยเพียงพอ

.....................................

11_DSC9952-edited.jpg

บริเวณยอดของกองหินตาลังมีแท่งหินตั้งเรียงล้อมกัน เป็นที่มาของชื่อภาษาอังกฤษ Stonehenge Pinacle แท่งหินเหล่านี้ตั้งขวางกระแสน้ำทำให้มีปะการังอ่อนขึ้นปกคลุมมากเป็นพิเศษ เป็นจุดที่สวยเป็นพิเศษ และกระแสน้ำในบริเวณนี้ก็รุนแรงเป็นพิเศษเช่นกัน 

11_DSC2935.jpg
11_DSC2812.jpg

ในช่วงเวลาที่มีกระแสน้ำ ฝูงปลาก็ชอบออกมาหาอาหารเช่นเดียวกัน จึงเป็นช่วงเวลาที่กองหินปะการังมีชีวิวชีวาเป็นพิเศษ

11_DSC2820.jpg
11_DSC2892.jpg
11_DSC2897.jpg
11_DSC9799.jpg
11_DSC9761-Edit.jpg

ในหมู่เกาะอาดัง-ราวี นอกจากจะมีกองหินตาลัง ยังมีจุดดำน้ำร่องจาบัง ที่ตั้งอยู่ในร่องน้ำที่มีกระแสน้ำไหลเชี่ยว ทำให้มีปะการังอ่อนขึ้นอยู่ในระดับความลึกเพียง 3-4 เมตร ซึ่งสามารถชมได้จากการดำน้ำแบบสกินไดฟ์(ดำผิวน้ำ) และฟรีไดฟ์

จากเกาะหลีเป๊ะ ขึ้นไปทางเหนือราว 60 ไมล์ทะเล คือที่ตั้งของเกาะห้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะลันตา ที่นั่นมีเกาะหลายเกาะตั้งเรียงล้อมวงกัน ในวันที่คลื่นลมแรง พื้นที่ที่เรียกอย่างลำลองว่า ‘ลากูน’ ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างเกาะหลายเกาะเหล่านี้คือที่จอดเรือหลบลมชั้นดี แต่โลกเหนือผิวน้ำกับใต้ผิวน้ำนั้นไม่เหมือนกัน สำหรับโลกใต้น้ำที่มีกระแสน้ำไหลเวียนไปมาตลอดเวลานั้น ถ้าบริเวณไหนมีเกาะโผล่ขึ้นมาขวางทางน้ำ มันจะรีดกระแสน้ำให้ไหลเชี่ยวกรากเป็นพิเศษ

 

ผมเองนั้นมีความทรงจำที่ไม่ค่อยดีในการดำน้ำที่นี่ ตั้งแต่ตอนที่หัดดำน้ำแรกๆ ผมมาดำน้ำกับช่างภาพชาวมาเลเซียคนหนึ่ง ที่นี่น้ำใสมาก และโลกใต้น้ำในวันนั้นก็น่าตื่นตาตื่นใจมาก คงเพราะเป็นครั้งแรกที่ผมได้ดำน้ำท่ามกลางดงปะการังอ่อนสีม่วงอ่อนดั่งทุ่งลาเวนเดอร์ แต่ตลอดทางกลางทุ่งลาเวนเดอร์นั้นผมไม่สามารถหยุดมองอะไรได้เลย ไม่มีแม้แต่จะมีอารมณ์ชื่นชมสิ่งใดๆ เพราะกระแสน้ำที่รุนแรงมากสำหรับคนที่เพิ่งหัดดำน้ำ ผมต้องสับขาเตะตีนกบตลอดเวลา แม้หากหยุดเพียงแว้บเดียวก็จะต้องปลิวลอยไปกับกระแสน้ำ ในขณะที่บัดดี้เพียงคนเดียวของผมก็ว่ายนำลิ่วไปไกลแล้ว

 

สิ่งมีชีวิตในทะเลมีกระแสน้ำเป็นลมหายใจ แต่ลมหายใจ และกระบวนการเมตาบอลิซึมของมนุษย์ก็ยึดโยงกับความเป็นตายเช่นเดียวกัน การออกแรงมากๆ ในเวลาดำน้ำนั้นไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย โดยเฉพาะเมื่อผมเหนื่อย หัวใจก็เต้นเร็ว หายใจถี่ อากาศหมดเร็ว ปลดปล่อยคาบอนไดออกไซด์ได้น้อย และเมื่อเวลาผ่านไปแค่ราว 20 นาที ผมจึงเริ่มปวดหัวอย่างรุนแรง ในขณะที่ยังคงต้องสับขาเตะตีนกบสู้กระแสน้ำอยู่กับที่ตลอดเวลา เพื่อรอบัดดี้ช่างภาพชาวมาเลเซียคนนั้นที่ยังคงจดจ่ออยู่กับมุมโปรดอย่างสบายใจ จนผมเริ่มรู้สึกทนไม่ไหว และส่งสัญญาณมือบอกไปว่ารู้สึกไม่ไหวและขอกลับขึ้นสู่ผิวน้ำ และผมก็กลับขึ้นสู่โลกที่รู้สึกปลอดภัยกว่าด้วยวิธีที่อันตรายมาก คือปราศจากการหยุดพักเซฟตี้สต็อบตามกฏของการดำน้ำ....

 

เหตุการณ์ฝังใจในวันนั้นทำให้ผมพยายามเข้าใจกระแสน้ำที่สัมพันธ์กับปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลง และพยายามทำความเข้าใจการใช้ภูมิประเทศใต้น้ำในการหลบหลีกกระแสน้ำ โดยเฉพาะเมื่อเราอยากชื่นชม อยากถ่ายรูปปะการังอ่อนและกัลปังหา ที่จัดได้ว่าเป็นความสวยงามที่สุดของโลกใต้น้ำ แต่ปะการังสองอย่างนี้มีความผูกพันกับกระแสน้ำอย่างแยกไม่ออก  เรามักพบปะการังอ่อนและกัลปังหาในบริเวณที่มีกระแสน้ำไหลแรง เพราะมันมีชีวิตอยู่กับการดักกินอาหารและแพลงตอนที่พัดมากับกระแสน้ำ ธรรมชาติสร้างโลกใต้น้ำมาแบบนั้น เราก็ต้องปรับตัวให้อยู่ในโลกแบบนั้นให้ได้

.....................................

21_DSC4512.jpg

โลกใต้น้ำของเกาะห้าใหญ่นั้นเต็มไปด้วยโขดหินใต้น้ำน้อยใหญ่มากมาย มีปะการังอ่อนขึ้นอยู่เต็มไปหมด เป็นหนึ่งในภูมิทัศน์ที่สวยงาม

21_DSC4676.jpg
21_DSC4692.jpg

หินม่วงคือหนึ่งในจุดดำน้ำสวยที่สุดในเมืองไทย เป็นภูเขาใต้น้ำที่ปกคลุมไปด้วยปะการังอ่อนสีม่วงตามชื่อ ในช่วงเวลาที่กระแสน้ำอุดมสมบูรณ์ด้วยแพลงตอน จะมีฝูงปลาพากันว่ายคลอเคลียหากินตามแนวปะการัง เหมือนฝูงผีเสื้อตอมดมดอกไม้

ไม่ไกลจากเกาะห้ามีจุดดำน้ำอีกแห่งหนึ่งชื่อหินม่วง และหินแดง ผมกลับไปที่นั่นอีกครั้งในวันขึ้น 7 ค่ำ พระจันทร์ครึ่งดวง ซึ่งตามทฤษฏีนั้นน้ำจะขึ้นลงไม่มาก ทำให้กระแสน้ำไหลไม่แรง แต่ผมดูตารางน้ำมาแล้วว่า ในช่วงเวลาที่เราจะลงดำน้ำไดฟ์แรกนั้น เป็นช่วงเวลาที่น้ำเริ่มไหล เชื่อว่าโลกใต้น้ำทะเลในสภาพนั้นจะมีชีวิตชีวา และเราสามารถใช้เวลาอยู่ที่นั่นเพื่อถ่ายภาพได้อย่างสบายใจพอสมควร

 

ชื่อหินแดงบ่งบอกความมีสีสันของโลกใต้น้ำได้ดี ถ้ามองจากผิวน้ำ ที่นี่มีเพียงหินสามก้อนโผล่พ้นผิวน้ำนิดเดียว เมื่อก่อนชาวประมงคงเห็นกองหินนี้เป็นเพียงหินโสโครกที่ต้องระมัดระวัง แต่ที่จริงแล้วนั้น ใต้ยอดหินสามก้อนนั้นคือแนวปะการังที่มีสีสันจัดจ้านที่สุดในเมืองไทย

 

สีแดงทำให้ก้อนหินธรรมดากลายเป็นอัญมณีได้ฉันใด ปะการังสีแดงก็ทำให้กองหินโสโครกธรรมดากลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าได้ฉันนั้น ใต้ผิวน้ำของกองหินแดงนั้นเป็นภูเขาใต้ทะเลที่ลาดลึกเป็นหุบเหวลงสู่ความลึกกว่า 40 เมตร และแทบทุกตารางเมตรของหินแดงนั้นเต็มไปด้วยปะการังอ่อนปกคลุมจนเป็นสีแดงไปทั่ว

 

หินแดงมีจุดดำน้ำคู่แฝดคือหินม่วง สองจุดนี้สวยจัดจ้านเหมือนกัน หินม่วงเป็นภูเขาใต้น้ำเหมือนกัน แต่ไม่มียอดโผล่พ้นน้ำ ทั้งระดับความลึกยังมากกว่า เมื่อเราอยู่ในโลกใต้น้ำ สีสันของสิ่งต่างๆ จะโดนดูดกลืนไปจากมวลที่หนาแน่นของน้ำ โดยเฉพาะสีแดงซึ่งจะหายไปเป็นสีแรก ปะการังอ่อนสีแดงสด เมื่ออยู่ในระดับความลึกที่มากกว่าจึงกลายเป็นสีแดงอมฟ้า หรือสีม่วง และนี่คือความลับของหินม่วง ที่ว่าด้วยทฤษฏีการดูดกลืนของแสง

 

มีคนถามผมบ่อยๆ ว่า เวลาดำน้ำจริงๆ นั้นเห็นปะการังสีสวยเหมือนในรูปไหม? ผมตอบได้เลยว่าไม่เหมือน เพราะเราไม่สามารถเห็นสีสันบางสีได้ในความลึกใต้นำ้ที่มีมวลหนาแน่นและสามารถดูดกลืนแสงสีเหลือง ส้ม แดง ไปจนเกือบหมดสิ้น สีสันที่เห็นผ่านภาพถ่ายนั้นส่วนใหญ่เกิดจากการใช้แสงแฟลชหรือไฟวีดีโอใต้น้ำเพื่อเติมแสงสีขาวที่ถ่ายทอดสีสันได้ครบถ้วน การถ่ายภาพใต้น้ำอาจจะทำให้เราเห็นโลกใต้น้ำแตกต่างจากคนอื่น เพราะทันทีที่เรากดชัตเตอร์แล้วแสงแฟลชกระพริบสั้นๆ พลันภาพถ่ายปรากฏบนจอภาพก็ให้สีสดใสไม่เหมือนตาเห็น

 

แต่โลกใต้น้ำที่ตาเปล่าของเรามองเห็นและรู้สึกได้นั้น ภาพถ่ายใดๆ ก็ให้ไม่ได้เช่นกัน ในโลกใต้น้ำนั้นคือโลกที่ไม่เหมือนบนโลกมนุษย์ ทั้งความเงียบของมวลน้ำ เสียงจอแจของฝูงปลาเคล้าฟองอากาศ สภาพไร้น้ำหนัก และสิ่งมีชีวิตที่เคลื่อนไหวในแนวปะการัง

 

ในวันที่กระแสน้ำไหลแรง โลกใต้น้ำจะมีชีวิตชีวาจากฝูงปลาที่พากันออกมากินอาหารที่พัดพามากับกระแสน้ำ ยิ่งน้ำไหลแรง เราจะยิ่งเห็นฝูงปลาแปรขบวน แต่ในวันที่น้ำไหลเอื่อยๆ อย่างวันนี้ ฝูงปลาก็ออกันอยู่ตรงกอปะการังอ่อนสีแดงอมชมพู ดูเผินๆ เหมือนผีเสื้อกำลังบินตอมดงดอกไม้ ผมลอยตัวนิ่งๆ ถ่ายภาพนั้นจนอากาศหมดเลยทีเดียว

.....................................

23_IMG_2618.jpg

กองหินมุสังนอก (Shark Point) อยู่ในเขตจังหวัดกระบี่ รอยต่อจังหวัดภูเก็ต เป็นกองหินที่มีปะการังอ่อนและกัลปังหาขึ้นหนาแน่น ส่วนปลาไหลมอเรย์ตัวนี้อาศัยโพรงกลางดงปะการังอ่อนเป็นบ้าน
 

23_DSC3265-Edit.jpg
23_IMG_3605.jpg

กัลปังหา หาอาหารด้วยการใช้โครงสร้างลำตัวที่เป็นผืนพัดดักจับธาตุอาหารแพลงตอนที่ลอยมากับกระแสน้ำ ในขณะที่ฝูงปลาก็อาศัยผืนพัดของกัลปังหาเป็นที่กำบังเช่นกัน

(สถานที่ในภาพ : กองหินมุสังนอก (Shark Point) จังหวัดกระบี่)
 

ปะการังอ่อน กัลปังหา และฝูงปลาอาศัยอยู่รวมกันหนาแน่นบนโครงสร้างเหล็กของซากเรือคิงครุยเซอร์ ซึ่งประสบอุบัติเหตุจมลงบริเวณใกล้เคียงกับกองหินมุสัง (แอนนิโมน รีฟ) เมื่อปี พ.ศ.2540 เนื่องด้วยบริเวณนี้เป็นแนวร่องน้ำที่กระแสน้ำเชี่ยวกราก จึงมีปะการังอ่อนจำนวนมากลงเกาะ และกลายเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำจำนวนมาก จนทุกวันนี้นับได้ว่าเป็นเรือจมที่ระบบนิเวศน์ของสัตว์น้ำเข้ายึดมากที่สุด และมีความสวยงามมากที่สุดเช่นกัน

22_IMG_3678.jpg

คนที่เคยดำน้ำด้วยกัน มักพูดหยอกผมว่า ถ้าเจอฝูงปลาเมื่อไหร่ให้ปล่อยผมไว้ตรงนั้นเลย...เพราะผมจะรอถ่ายรูปฝูงปลาอยู่อย่างนั้นจนไม่ไปไหน

 

ตอนที่ผมดำน้ำแรกๆ นั้นเห็นทุกอย่างสวยงามและน่าตื่นเต้น เพราะโลกใต้น้ำคือโลกใบใหม่ที่เราไม่เคยเจอ ทุกอย่างสวยงามไปหมด ไม่ว่ากดชัตเตอร์มากี่รูป ทุกรูปนั้นสวยอย่างไม่มีที่ติ แต่เมื่อเวลาผ่านไปผมพบว่าภาพทุกภาพเริ่มคล้ายๆ กัน แต่สิ่งที่ทำให้ภาพใต้น้ำแต่ละภาพแตกต่างกันก็คือฝูงปลา เพราะมันคือสรรพชีวิตที่ว่ายเวียนวนรอบแนวปะการังที่เป็นมหานครของพวกมัน ฝูงปลาเหล่านั้นไม่เคยหยุดนิ่ง แค่เพียงกดชัตเตอร์ช้าไปไม่ถึงเสี้ยววินาที ภาพของฝูงปลาที่รายล้อมปะการังสีสวยก็เปลี่ยนไป หลายๆ ครั้งผมใช้เวลากับการรอถ่ายฝูงปลาให้ได้จังหวะที่สวยที่สุดจนกระทั่งอากาศใกล้หมดถัง 

 

โดยเฉพาะที่กองหินริเชลิว จุดดำน้ำที่มีทั้งปะการังอ่อน กัลปังหา และฝูงปลา อันเป็นองค์ประกอบของภาพโลกใต้น้ำสมบูรณ์แบบที่ผมเคยเห็นในหน้านิตยสารท่องเที่ยวตั้งแต่สมัยที่เพิ่งหัดถ่ายรูปแรกๆ เมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว

 

กองหินริเชลิวเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ แต่ตัวกองหินนี้ จริงๆ แล้วมันตั้งโดดเดี่ยวนอกเขตหมู่เกาะ และอยู่ในเขตร่องน้ำที่รับกระแสน้ำเต็มๆ ที่นี่จึงเป็นดินแดนใต้น้ำที่อุดมสมบูรณ์ด้วยธาตุอาหารแพลงตอนที่พัดมากับกระแสน้ำ ที่นี่จึงมีทั้งปะการังอ่อน กัลปังหา และฝูงปลาคลาคล่ำ

 

ผมว่าในช่วงเวลาเช้าตรู่ที่มีกระแสน้ำไหลเอื่อยๆ คือช่วงเวลาที่กองหินริเชลิวจะสวยงามที่สุด มันเป็นเวลาที่เราเพิ่งตื่นจากเตียงนอนบนเรือลีฟอะบอร์ดและยังไม่ได้กินข้าวเช้า ฝูงปลาก็คงท้องว่ายเช่นกัน.. ในกองหินที่เต็มไปด้วยธาตุอาหารลอยฟูฟ่องจึงมีฝูงปลาออกมาหาอาหารเต็มไปหมด พวกมันจะรวมกลุ่มกันว่ายเป็นทิวแถว บางทีก็ดูเหมือนมันกำลังต่อคิวทำอะไรบางอย่างเป็นเส้นสายยาวเหยียด แต่จริงๆ แล้วปลาทุกตัวต้องหันหน้าไปทางเดียวกันเพราะมันต่างต้องหันหน้าสู้กระแสน้ำ บางทีก็มีฝูงปลามงนักเลงขาใหญ่ประจำกองหินที่กำลังท้องว่าย มันจึงว่ายอย่างปราดเปรียวไล่งับฝูงปลาเล็กปลาน้อยเหล่านี้เป็นอาหารเช่นกัน ในช่วงเวลามหัศจรรย์แบบนั้น รอบตัวของเราจะมีฝูงปลาว่ายโฉบเฉี่ยวไปมาอย่างรวดเร็วจนมองไม่ทัน ส่วนฝูงปลาตัวจิ๋วๆ เท่าเม็ดข้าวสารจำนวนนับแสนนับล้านก็รวมกลุ่มกันว่ายคลอเคลียอยู่ใต้เงื้อมเงาของกัลปังหาที่แผ่กิ่งก้านเป็นแนวกำบัง หรือบางที หลังจากกดชัตเตอร์พร้อมเปิดแสงแฟลชก็พบว่าใต้กอปะการังนั้นมีเจ้าปลาเก๋าตัวสีแดงสดแอบซ่อนอยู่ในมุมมืด เตรียมฮุบเหยื่อที่เข้ามาใกล้ ภาพที่เห็นนี้แหละมั้ง ที่เรียกว่าทะเลที่มีชีวิต มีลมหายใจ

.....................................

31_IMG_3159.jpg

นักดำน้ำจำนวนมากยกย่องให้กองหินริเชลิวเป็นจุดดำน้ำสวยที่สุดในทะเลไทย ทั้งนี้เป็นเพราะกองหินริเชลิวนั้นตั้งอยู่ในเขตร่องน้ำที่รับกระแสน้ำ ได้รับความอุดมสมบูรณ์ที่พัดพามาจากมหาสมุทรอินเดีย ทำให้กองหินริเชลิวมีองค์ประกอบของชีวิตใต้ท้องทะเลที่สวยงามครบถ้วน ทั้งแนวปะการัง และฝูงปลามากมาย  

31_IMG_3209.jpg
31_DSC7030.jpg

ชีวิตชีวาของกองหินริเชลิว มาจากระบบนิเวศน์ที่มีทั้งปะการัง ปลาเล็ก และปลาผู้ล่าอย่างปลามงฝูงใหญ่ปราดเปรียวที่ว่ายโฉบไปมาไล่งับปลาเล็ก ส่วนปลาเก๋าจุดฟ้าลำตัวสีแดงสดก็มักจะแอบอยู่ตามกอปะการังเพื่อซุ่มโจมตีเหยื่อ และเมื่อไหร่ที่ฝ่ายผู้ล่าเริ่มบุก ฝูงปลาเล็กก็กระวีกระวาดว่ายหนีกันเป็นทิวแถม เป็นภาพชีวิตที่ดูน่าตื่นตาตื่นใจ

31_DSC7121.jpg
31_IMG_3232.jpg
31_DSC7012.jpg
31_DSC7021.jpg
32_DSC6944.jpg

กองหินริเชลิวนั้นโดดเด่นเรื่องปะการังอ่อน ในขณะที่กองหินตาชัย ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก คือจุดดำน้ำที่สามารถพบเห็นกัลปังหาได้มากที่สุดในทะเลไทย 

32_IMG_3077.jpg
32_DSC6969.jpg
32_DSC6956.jpg
32_IMG_3135.jpg
32_IMG_3043.jpg

ผมกลับไปที่ท่าเรือปากบาราอีกครั้ง ท่าเรือนี้เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นจุดเริ่มต้นเดินทางไปเกาะหลีเป๊ะ แต่ครั้งนี้จุดหมายปลายทางของเราอยู่ที่กองหินแห่งหนึ่งซึ่งเพิ่งเป็นที่รู้จักไม่นาน และเป็นหนึ่งในจุดดำน้ำที่หาโอกาสไปดำน้ำยากมากที่สุดแห่งหนึ่ง

 

หินขาว คือชื่อของหินกลางน้ำก้อนหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้ๆ เกาะบุโหลนเล ไม่ไกลจากชายฝั่งจังหวัดสตูลเท่าใดนัก ดูจากข้างบนก็เหมือนโขดหินโผล่พ้นน้ำธรรมดาๆ และบังเอิญมันมีสีค่อนข้างขาว จึงถูกตั้งชื่อง่ายๆ ตามสีที่เห็น แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ นักดำน้ำทั่วประเทศไทยเพิ่งได้รู้ว่าใต้เส้นขอบฟ้าของหินขาวก้อนนั้นคือจุดดำน้ำที่มีสีสันมากที่สุดในทะเลไทย

 

เรื่องมันเริ่มต้นมาจากข่าวโครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราที่อยู่ไม่ไกลจากกองหินนี้เท่าไหร่นัก และมีนักอนุรักษ์คนหนึ่งซึ่งรู้จักกองหินนี้ และถ่ายรูปกองหินนี้เผยแพร่ออกไปให้โลกเห็นว่า ถ้าโครงการสร้างท่าเรือแห่งนี้เริ่มต้นเมื่อไหร่ ตะกอนดินทรายมากมายเหลือคณานับจะถูกพัดมามากับกระแสน้ำ และทำให้กองหินขาวเสียหาย ซึ่งไม่ใช่แค่เราจะเสียจุดดำน้ำที่สวยงามไปอีกหนึ่งแห่ง แต่เพราะระบบนิเวศน์ที่นี่พังทลายลงไป ก็จะทำให้ฝูงปลาไร้ที่อยู่ไปอีกแห่งหนึ่ง เรื่องนี้ชาวประมงบนเกาะบุโหลนเลเข้าใจ

 

โชคดีที่โครงการดังกล่าวถูกยกเลิกไป แม้ไม่ใช่เหตุผลด้านการอนุรักษ์ แต่ถ้าโครงการเปื้อนฝุ่นนี้จะถูกหยิบมาปัดฝุ่นอีกครั้งก็คงไม่ง่ายนัก และวันนี้ผมก็ได้นั่งเรือหางยาวจากท่าเรือปากบารา มาดำน้ำที่หินขาวพร้อมกับบังเอก หรือฉูเอก นักอนุรักษ์คนนั้น ที่รู้จักหินขาวดีกว่าใคร 

 

จริงๆ แล้วเรานัดแนะและวางแผนมาดำน้ำที่หินขาวล่วงหน้านานนับเดือน เพราะต้องหาช่วงวันน้ำตายที่กระแสน้ำรุนแรงน้อยที่สุดถึงจะดำน้ำที่นี่ได้ ดังนั้นในแต่ละเดือนจะมีวันที่เหมาะแก่การดำน้ำที่หินขาวเพียงแค่ 5-6 วันเท่านั้น เนื่องจากกองหินนี้ค่อนข้างอยู่ใกล้ชายฝั่งที่มีปากแม่น้ำละงู ถ้าเมื่อใดมีกระแสน้ำ มันก็จะพัดพาเอาตะกอนจากปากแม่น้ำเข้ามาทำให้น้ำทะเลที่นี่ขุ่นคลั่ก

 

ไม่ใช่เพียงแค่ดูวันข้างขึ้นข้างแรมที่เหมาะสม แต่ยังต้องดูจังหวะน้ำขึ้นน้ำลงที่เหมาะสมเช่นกัน 

 

พวกเราหงายหลังทิ้งตัวจากเรือหัวโทงลงสู่ทะเลแล้วปล่อยลมจากเสื้อบีซีดีออก ให้ตัวเราจมลงสู่ความลึก เราค่อยๆ เห็นกองหินที่ปกคลุมด้วยปะการังอ่อนสีสันมากมาย ทั้งชมพู น้ำเงิน เหลือง แดง มากและหลากหลายที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา อีกทั้งฝูงปลาที่อาศัยอยู่ในกองปะการังนั้น

 

การได้อยู่ในโลกใต้น้ำนั้นมีความสุข แต่เราทุกคนรู้ดีว่าความสุขของเรานั้นมีจำกัดด้วยปริมาณอากาศที่เหลือในถัง ซึ่งมันเท่ากับลมหายใจที่เราสามารถหายใจต่อไปได้ ลมหายใจที่สำคัญต่อสิ่งมีชีวิตแทบทุกชนิด

 

เราขึ้นมาถึงผิวน้ำ บังเอกยิ้มอย่างมีความสุข ไม่แน่ใจว่าเพราะบังเอกภูมิที่ได้พาเรามาเห็นกองหินขาวที่บังรักนักรักหนา หรือดีใจที่ลมหายใจของหินขาวยังคงสะอาดและมีอยู่ต่อไป./

...............................................................

41_DSC3373.jpg
41_DSC3365.jpg

หินขาวคือกองหินที่อยู่ไม่ไกลจากชายฝั่งจังหวัดสตูล ถ้ามองจากเหนือน้ำก็เป็นเพียงกองหินพ้นน้ำสีขาวธรรมดา แต่ใต้เส้นขอบฟ้าคือดงปะการังอ่อนที่มาสีสันหลากหลายมากที่สุดเท่าที่เคยพบเห็นมา และกองหินนี้เกือบจะถูกทำลายจากโครงการสร้างท่าเรือน้ำลึก ที่จะสร้างตะกอนจำนวนมหาศาล ที่จะทำลายระบบนิเวศน์ในกองหินขาว ซึ่งท้ายที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ และความมั่นคงทางอาหาร และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของชาวประมงในพื้นที่

41_DSC3275.jpg

Diving Information

กองหินตาลัง (Stonehenge Pinacle) เกาะหลีเป๊ะ

เดินทางไปเกาะหลีเป๊ะจากท่าเรือปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ด้วยเรือโดยสาร และใช้บริการทริปดำน้ำของร้านดำน้ำบนเกาะหลีเป๊ะ เช่น Satul Dive Resort

ร่องน้ำจาบัง เกาะหลีเป๊ะ 

ใช้บริการทริปดำน้ำตื้นจากบริษัททัวร์บนเกาะหลีเป๊ะ เช่น Sealection

เกาะห้า อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่

เดินทางดำน้ำโดยเรือ Liveaboard เส้นทางอันดามันใต้ หรือเดินทางดำน้ำแบบเช้าไปเย็นกลับ จากเกาะลันตาใหญ่ โดยร้านดำน้ำบนเกาะ เช่น Anti Gravity Diver 

หินม่วง หินแดง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่

เดินทางดำน้ำโดยเรือ Liveaboard เส้นทางอันดามันใต้ หรือเดินทางดำน้ำแบบเช้าไปเย็นกลับ จากเกาะลันตาใหญ่ โดยร้านดำน้ำบนเกาะ เช่น Anti Gravity Diver, Lanta Diver

 

เรือจม คิงครุยเซอร์ และชาร์คพอยท์ จังหวัดกระบี่/ภูเก็ต

เดินทางดำน้ำโดยเรือ Liveaboard เส้นทางอันดามันใต้ หรือเดินทางดำน้ำแบบเช้าไปเย็นกลับ จากจังหวัดภูเก็ต กับเรือให้บริการดำน้ำ เช่น Manta Queen

กองหินริเชลิว และกองหินตาชัย จังหวัดพังงา

เดินทางดำน้ำด้วยเรือ Liveaboard เส้นทางอันดามันเหนือ หรือเดินทางดำน้ำแบบเช้าไปเย็นกลับ จากท่าเรือทับละมุ กับเรือผู้ให้บริการดำน้ำ เช่น Similan Seven Sea Club

หินขาว จังหวัดสตูล

เดินทางโดยเรือหางยาวเช่าเหมา พร้อมอุปกรณ์ดำน้ำและไดฟ์หลีดเดอร์ผู้ชำนาญพื้นที่ เดินทางจากท่าเรือปากบารา ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที ติดต่อ บังเอก 08 3169 3239

bottom of page