ป่าชายเลน
ที่สีสันอาจไม่ค่อยสวย
แต่รุ่มรวยด้วยความหมาย
เรื่อง และภาพ : บุญฤทธิ์ ไตรสุธรรมพร
สีน้ำเงินเทอควอยของมหาสมุทรคือเฉดสีที่ทำให้หัวใจเต้นแรงเสมอ เช่นเดียวกับความเจิดจ้าของแสงแดดส่องกระทบหาดทรายขาวบนเกาะกลางทะเลอันไกลโพ้น ภาพทะเลในฝันนี้ช่างแตกต่างและตรงข้ามกับภาพป่าชายเลนสีเอิร์ธโทนที่เราพบเห็นอยู่บ่อยๆ ในยามที่เรากำลังออกเดินทางสู่เกาะกลางทะเลที่ไกลออกไป เพราะท่าเรือส่วนใหญ่มักจะตั้งอยู่ในหมู่บ้านประมงริมคลองป่าชายเลน เพราะพื้นที่ตรงนั้นคือทำเลที่ชาว
ทะเลรู้กันดีว่าปลอดภัยจากคลื่นลม ป่าชายเลนคือพื้นที่ปลอดภัยสำหรับหลายๆ ชีวิต และเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับเรื่องราวของอะไรอีกหลายอย่าง
.............................................
“ปักมันลงไป เดี๋ยวดินก็งอกขึ้นมาเอง”
คือคำพูดนึงที่ผมจำได้ ของผู้บุกเบิกกิจการโฮมสเตย์ริมคลองโคน จังหวัดสมุทรสงคราม และศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลนคลองโคน สถานที่ซึ่งบรรดาบริษัทที่ฝักใฝ่การทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือ CSR ต่างรู้จักดี เพราะในแต่ละปี มีบริษัทจำนวนเป็นร้อยๆ ที่ยกพลมาปลูกป่าชายเลนที่นี่
ความจริงมีอยู่ว่า การทำกิจกรรมเพื่อสังคมแบบผิวเผินกับช่วงเวลา 2-3 ชั่วโมง อาจไม่ให้ผลที่เป็นรูปธรรม ป่าชายเลนที่ถูกปลูกใหม่จำนวนไม่น้อยก็ไปไม่รอด แต่อย่างไรก็ตาม ป่าชายเลนที่เห็นอยู่มากมายตลอดสองข้างคลองในหมู่บ้านนี้ก็เกิดจากการปลูกใหม่มากกว่าครึ่ง
ย้อนกลับไปในอดีต ธุรกิจนากุ้งเคยเป็นธุรกิจที่ทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ พื้นที่ป่าชายเลนที่เคยไร้ราคาก็ถูกเอามาแผ้วถางทำนากุ้งกันครึกโครม แต่ผลจากการทำลายป่าชายเลนเพื่อทำนากุ้งคือ เรามีกุ้งจากฟาร์มให้กินมากขึ้น แต่สัตว์น้ำในทะเลลดจำนวนลงตามพื้นที่ป่าชายเลนที่หายไป เพราะสัตว์ทะเลบางชนิดใช้ช่วงเวลาในวัยเยาว์ในป่าชายเลน ก่อนที่จะออกไปเติบใหญ่ในมหาสมุทร และสัตว์ทะเลบางชนิดก็ใช้เวลาทั้งชีวิตอยู่ในป่าชายเลน
นากุ้งที่ปล่อยน้ำเสียลงทะเลยิ่งเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำร้ายคุณภาพชีวิตสัตว์น้ำในอ่าว และเรื่องหนักหนาสาหัสที่ถาโถมตามมาเหมือนคลื่นยักษ์ คือที่ดินชายฝั่งที่เคยมีก็หายไป เพราะป่าชายเลนนั้นเคยทำหน้าที่เป็นกำแพงธรรมชาติ คอยบรรเทาความรุนแรงของคลื่นที่กัดเซาะชายฝั่งในฤดูมรสุม แต่เมื่อป่าชายเลนหายไป แผ่นดินของเราก็เริ่มหายไปเรื่อยๆ
ชาวบ้านคลองโคนกลุ่มหนึ่งเริ่มเห็นความจริงข้อนี้ จึงเริ่มปลูกป่ากันเป็นเรื่องเป็นราว ป่าชายเลนเป็นป่ามหัศจรรย์ที่ฟื้นฟูได้ไม่ยาก แค่ทำอย่างถูกหลัก ทำอย่างต่อเนื่อง และไม่ทำลายซ้ำอีก สิ่งที่ประจักษ์ชัดเมื่อเวลาผ่านไปคือ ป่ากลับมา สัตว์น้ำกลับมา แผ่นดินก็งอกเงยเพิ่มขึ้นมา
วันนั้นผมปลูกต้นโกงกางไปหนึ่งต้น ผมไม่รู้หรอกว่าโกงกางต้นนั้นจะไปรอดหรือไม่ เพราะบ่ายวันนั้นผมก็จากมา แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้ในวันนั้นก็เปลี่ยนมุมที่ผมมองป่าชายเลนในทุกครั้งที่ผมได้ผ่านพบ
ป่าชายเลนคือสิ่งมหัศจรรย์ในทางนิเวศวิทยา และมีความสวยงามในเชิงศิลปะ โดยเฉพาะเส้นสายของรากต้นโกงกางที่คล้ายขาแมงมุม ทำหน้าที่ค้ำยันลำต้นที่ตั้งอยู่บนเลนอันเหลวแหลกให้มั่นคง และโครงข่ายที่ซับซ้อนยุ่งเหยิงเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นที่คุ้มภัยของสัตว์น้ำและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอีกมากมายซึ่งใช้ป่าชายเลนเป็นที่หากิน
น้ำในลำคลองของป่าชายเลนมักจะเป็นสีดินขุ่นๆ แต่ดินเหล่านี้คือขุมทรัพย์แห่งธาตุอาหารที่ถูกพัดพามาตั้งแต่จุดกำเนิดของลำธารบนภูเขาสูง ลำเลียงมาตามแม่น้ำลำคลอง และถูกโครงสร้างซับซ้อนของป่าชายเลนเก็บกักเอาไว้เป็นแหล่งอาหาร จะว่าไปแล้วป่าชายเลนก็เหมือนกำแพงที่คั่นระหว่างโลกทางบกกับโลกทางน้ำ
ใบไม้ที่พริ้วไหวไปตามแรงกระเพื่อมของผิวน้ำ ท่ามกลางเส้นสายที่แปลกตาของรากต้นโกงกาง ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของพันธุ์ไม้ในป่าชายเลน เพราะป่าชนิดนี้ต้องเอาตัวรอดในพื้นที่ที่มีน้ำทะเลขึ้นลงตลอดเวลา อีกทั้งพื้นดินก็เป็นเลนเหลวๆ ที่ยึดโครงสร้างอะไรไว้ไม่ค่อยได้ ธรรมชาติจึงออกแบบระบบ “รากค้ำยัน” ของต้นโกงกางให้มีขาเหมือนแมงมุม คอยค้ำยันลำต้นไว้ให้มั่นคง และด้วยระบบรากที่ดูซับซ้อนยุ่งเหยิงเหล่านี้ก็ทำให้มันสามารถช่วยเก็บกักอินทรีย์วัตถุต่างๆ ทั้งตะกอนดินที่มากับน้ำ ไปจนถึงใบไม้ที่รอวันย่อยสลาย อีกทั้งปลาเล็กปลาน้อย กุ้ง หอย ก็ยังสามารถอาศัยโครงสร้างซับซ้อนในป่าชายเลนเป็นที่หลบภัย
ภาพนี้ถ่ายที่อ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นป่าชายเลนผืนใหญ่ที่เกิดจากการฟื้นฟูโดยมนุษย์ (หลังจากการทำลายโดยมนุษย์เช่นเดียวกัน)
ป่าชายเลนทำหน้าที่เป็นกำแพงกั้นระหว่างผืนดินและผืนน้ำ เมื่อแม่น้ำลำคลองที่มีต้นกำเนิดจากภูเขาสูง พัดพาตะกอนดินอุดมสมบูรณ์มากมายลงสู่ทะเล ป่าชายเลนจะคอยดักตะกอนดินเอาไว้ให้เป็นอาหารของสัตว์ทะเลวัยอ่อนที่ใช้ป่าชายเลนเป็นบ้าน และในยามที่ท้องทะเลมีภัยธรรมชาติเช่นคลื่นลมแรง ป่าชายเลนก็จะเป็นกำแพงกั้นและบรรเทาความรุนแรงให้ชีวิตบนชายฝั่งเช่นเดียวกัน
เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ในปี พ.ศ.2547 นั้น มีรายงานว่าพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายและความสูญเสียน้อย คือพื้นที่ที่มีป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์
เงาสะท้อนน้ำของดงต้นจากที่ขึ้นอยู่ริมคลองสุนัขหอน ซึ่งเป็นคลองย่อยสายหนึ่งของแม่น้ำท่าจีน ในจังหวัดสมุทรสาคร
ต้นจากเป็นอีกหนึ่งพันธ์ุไม้เด่นในป่าชายเลนที่มีรูปร่างรูปทรงสวยงาม ด้วยมีใบแบบขนนกคล้ายมะพร้าว แทงยอดจากดินชูขึ้นฟ้า เรียงรายแออัดกันเป็นรูปฟอร์มน่าชม เรามักจะพบดงจากอยู่ในลำคลองที่ไกลจากทะเลสักหน่อย และผู้คนที่ตั้งรกรากอยู่ริมคลองก็มักจะใช้ประโยชน์จากต้นจากได้มากมายหลากหลาย ตั้งแต่การห่อขนมไปจนถึงขั้นทำหลังคาบ้าน
การปลูกป่าชายเลนเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย ถ้าทำอย่างถูกวิธีการ และทำอย่างต่อเนื่อง เมื่อต้นโกงกางเติบโตขึ้น โครงสร้างของป่าชายเลนที่เป็นตัวกักเก็บตะกอนดินเลนให้ทับถมกันจนงอกเงยเป็นผืนดินใหม่ต่อไปเรื่อยๆ และป่าชายเลนจะเป็นระบบนิเวศที่เพิ่มจำนวนสัตว์น้ำในทะเลให้อุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ชายหาดบางแห่งที่อยู่ไม่ไกลจากปากแม่น้ำลำคลองมักจะเป็นหาดทรายปนเลน อย่างเช่นหาดมดตะนอย จังหวัดตรัง ในช่วงน้ำทะเลลดต่ำจะมีปูทหารออกมาหากินเป็นจำนวนนับพันๆ หมื่นๆ ตัว ปูพวกนี้มีขนาดเล็กราวๆ หนึ่งข้อนิ้ว หน้าตาคล้ายปูลม และมักจะหากินด้วยการใช้ก้ามช้อนทรายขึ้นมากรองกินซากพืชซากสัตว์และแพลงตอนที่ปนอยู่ในทรายและดินเลน พฤติกรรมนี้แสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของอาหารที่อยู่ในดินเลนเหล่านี้
เมื่อเราล่องเรือไปในคลองโคน ในช่วงเวลาแดดร่มลมตก เรามักจะได้เจอฝูงลิงแสมออกจากป่ามาหากินอยู่เป็นประจำ บางครั้งมันก็มักจะตรงเข้ามาขอของกินจากผู้มาเยือน แต่ในชีวิตปกติของลิงแสมเหล่านี้ พวกมันมักจะหากินด้วยการจับกุ้ง จับปู จับหอย ที่อยู่ในป่าชายเลนกินเป็นอาหาร
ป่าชายเลนคลองโคนเป็นป่าชายเลนที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ที่นี่มีชุมชนที่จริงจังกับการปลูกป่าชายเลนตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา จนป่าชายเลนที่เคยเสื่อมโทรมก็ฟื้นตัวอย่างชัดเจน
เรือแจวลำนี้เคยถูกใช้เป็นเรือสำหรับขนถ่าน ที่ทำมาจากไม้โกงกางในป่าชายเลนบ้านทุ่งหยีเพ็ง บนเกาะลันตาใหญ่ จังหวัดกระบี่
ชาวบ้านในหมู่บ้านนี้เคยทำอาชีพตัดไม้เผาถ่านขาย ควบคู่กับอาชีพประมง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ป่าชายเลนโดนตัดจนเสื่อมโทรม บ้านของสัตว์น้ำหายไป อาชีพประมงก็ได้รับผลกระทบ ชาวบ้านจึงเลิกทำอาชีพตัดไม้เผาถ่าน แล้วหันมาปลูกป่าชายเลน เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน ความอุดมสมบูรณ์ก็กลับมาสู่ป่าชายเลนบ้านทุ่งหยีเพ็ง สัตว์น้ำที่จับได้มีปริมาณมากขึ้น และเรือแจวที่เคยใช้ในการขนถ่าน ก็ถูกใช้เป็นเรือสำหรับให้นักท่องเที่ยวล่องชมป่าชายเลน
.....................................
การถ่ายภาพป่าชายเลนกลายเป็นความรื่นรมย์สำหรับผม ไม่น้อยไปกว่าการถ่ายภาพทะเลสีคราม หาดทรายขาว หรือแนวปะการังที่มีสีสัน ทุกสิ่งกลายเป็นมิติของทะเลที่เชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก
เช้าวันนั้นผมกำลังอยู่บนเรือแจวที่ล่องไปตามลำคลองของหมู่บ้านทุ่งหยีเพ็ง ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันออกของเกาะลันตา เรือลำนี้เป็นเรือไม้ที่ดูอายุอานามไม่น้อย เป็นเรือที่มีไม้พายสองด้ามไขว้ และยังใช้คนแจว การเดินทางในเช้าวันนี้จึงเงียบเชียบและน่ารื่นรมย์เป็นอย่างยิ่ง
ภาพเช่นนี้อาจจะไม่คุ้นตาสำหรับเกาะลันตา ถ้าเราขับรถไปตามถนนเลียบชายฝั่งด้านตะวันตกของเกาะ เราจะเห็นแต่ชายหาดขาวสวย แต่ถ้าเราขับรถมาเที่ยวเล่นด้านทิศตะวันออกของเกาะ เราจะเห็นป่าชายเลนอยู่เต็มไปหมด แต่ป่าชายเลนผืนนี้ก็เคยเกือบหมดไปจากเกาะ เพราะชาวบ้านในหมู่บ้านแถบนี้เคยทำอาชีพตัดไม้โกงกางเพื่อเอามาเผาถ่าน เพราะถ่านไม้โกงกางนั้นนับได้ว่าเป็นไม้ที่คุณภาพดีที่หนึ่ง และเรือแจวลำที่ผมกำลังนั่งอยู่นี้ก็เคยถูกใช้เป็นเรือสำหรับขนส่งถ่านนี่แหละ
ชาวบ้านที่นี่เคยทำอาชีพตัดไม้เผาถ่าน ควบคู่กับการออกเรือหาปลา แต่เมื่อป่าเริ่มหายไป ปลาที่จับได้ก็เริ่มหายไป ชาวบ้านจึงตกลงกันว่าจะเลิกตัดไม้เผาถ่านและหันมาปลูกป่าชายเลนฟื้นฟู และป่าชายเลนบ้านทุ่งหยีเพ็งก็กลายเป็นอีกหนึ่งผลงานที่ยืนยันว่า การฟื้นฟูป่าชายเลนนั้นทำได้ผลจริง และทำให้ระบบนิเวศของทะเลกลับมาดีเหมือนเดิม ทุกวันนี้กิจกรรมล่องเรือชมป่าชายเลนบ้านทุ่งหยีเพ็งกลายเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวที่น่ารื่นรมย์เป็นอย่างยิ่ง และเรือที่ใช้ในการเดินทางก็ดัดแปลงมาจากเรือขนถ่านลำเดิมนั่นแหละ
.....................................
สันหลังปิ้งกือ หรือสันหลังกิ้งกือ คือชื่อเล่นๆ ที่ชาวบ้านริมคลองลัดโนด จังหวัดระนอง เรียกสันดอนทรายกลางลำคลองที่เกิดจากตะกอนแม่น้ำทับถมเป็นเวลานาน สันดอนแห่งนี้มีความแปลกกว่าสันดอนทั่วไป เพราะกระแสน้ำขึ้นน้ำลง และคลื่นลม ที่เปลี่ยนไปมาตามช่วงจังหวะเวลา ทำให้สันดอนมีลักษณะเป็นลอนขนาดยักษ์
น้ำในคลองป่าชายเลนทั่วไปมักจะมีสีดินคล้ำ แต่ไม่ใช่สำหรับคลองท่าปอม เพราะสีน้ำในคลองสายนี้เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามช่วงเวลาที่น้ำทะเลขึ้นลง
เมื่อน้ำขึ้น น้ำทะเลสีฟ้าขุ่นจะไหลเข้ามาในลำคลอง และเมื่อเวลาผ่านไป น้ำทะเลลดต่ำ กระแสน้ำจากแผ่นดินก็ไหลลงมาแทนที่ น้ำในลำคลองก็เปลี่ยนเป็นน้ำสีมรกตใสแจ๋ว เพราะน้ำเหล่านี้มีต้นกำเนิดจากภูเขาหินปูนที่มีธาตุแคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้น้ำตกตะกอน
ภาพทางอากาศของป่าชายเลนบริเวณบ้านหินร่ม ใกล้กับจุดชมวิวเสม็ดนางชี ซึ่งเป็นจุดชมวิวที่มีชื่อเสียงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ แต่ที่จริงแล้วพื้นที่บริเวณนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของอ่าวพังงา ซึ่งเป็นป่าชายเลนผืนใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย
อ่าวพังงาเป็นเวิ้งอ่าวเว้าลึกคล้ายตัว ก.ไก่ รอบรัศมีของเวิ้งอ่าวมีลำคลองหลายสิบสายไหลลงสู่ทะเล แม้คนทั่วโลกที่มาเที่ยวเมืองไทยจะรู้จักอ่าวพังงาด้านทิศเหนือ ที่มีเกาะหมาจู เกาะปันหยี เกาะตาปู เป็นจุดเด่นมากกว่า แต่อ่าวพังงายังมีมุมมองที่สวยงามอีกมากมาย และจุดชมวิวเสม็ดนางชีก็เป็นหนึ่งในคำตอบที่ยืนยันว่า อ่าวพังงามีทิวทัศน์สวยระดับโลก
ภาพทิวทัศน์อ่าวพังงาที่สวยงาม ถ่ายขณะเครื่องบินบินอยู่เหนือเกาะปันหยี มองเห็นเส้นสายของลำคลองที่ไหลคดเคี้ยวท่ามกลางป่าชายเลนในอ่าวพังงา อันเป็นภาพลักษณ์ที่สมบูรณ์แบบของป่าชายเลนในอุดมคติ
.....................................................................................................
“คุณรู้ไหม? อ่าวพังงานี่คือวิวระดับโลกเชียวนะ”
ชาวต่างชาติคนหนึ่งเคยบอกผมระหว่างเรานั่งเครื่องบินไปภูเก็ต ผมคิดในใจว่ากำลังจะบอกเขาแบบนั้นอยู่เหมือนกัน เพราะถ้าช่วงไหนที่เครื่องบินจะลงจอดด้านรันเวย์ 27 (มุ่งหน้าจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก) ขณะเครื่องกำลังลดระดับลง ใครที่นั่งริมหน้าต่างให้เตรียมกล้องไว้ได้เลย เรากำลังจะเห็นทิวทัศน์ระดับโลกของอ่าวพังงา
เคยมีคนพูดเปรียบเทียบอ่าวพังงาว่าเป็น “ฮาลองเบย์เมืองไทย” แต่เดี๋ยวก่อน... การเอาสถานที่ในประเทศไทยไปเปรียบเทียบว่าเหมือนต่างชาตินั้นเป็นแนวคิดที่แสนเชยเสียนี่กระไร และในฐานที่เคยไปฮาลองเบย์มาแล้ว ก็ไม่รู้สึกถึงความแตกต่าง บางทีอาจจะเห็นเพราะว่าเราไม่ได้เห็นภาพกว้างๆ โดยเฉพาะป่าชายเลนนั้นต้องเห็นทั้งภาพในมิติทั้งกว้างคูณยาวคูณลึก คือเราควรจะได้มาเดินหรือมานั่งเรือฟังเสียงปูก้ามดาบ มาดูลิงแสมจับปูกิน มาเฝ้าดูปลาตีน มาเดินย่ำโคลน นี่คือมุมลึก(ซึ้ง) และเราก็ควรได้เห็นภาพในมุมกว้าง โดยเฉพาะในมุมสูง จะทำให้เราได้เห็นภาพที่ยิ่งใหญ่อลังการ
ถ้าเราได้เห็นป่าชายเลนในมุมมองของนก เราจะเห็นแม่น้ำลำคลองไหลคดเคี้ยวเป็นงูเลื้อย เราอาจจะพอจำเรื่องราวในชั้นเรียนภูมิศาสตร์ตอนมัธยม ที่กล่าวถึงความคดเคี้ยวของแม่น้ำที่มันจะค่อยๆ คดเคี้ยวมากยิ่งขึ้น เพราะด้านหนึ่งของคุ้งน้ำจะถูกกระแสน้ำกัดเซาะให้เว้าเข้าไปเรื่อยๆ และตะกอนที่ถูกกัดเซาะออกมาก็จะทับถมตลิ่งอีกด้านหนึ่งให้งอกออกมาเรื่อยๆ
ปรากฏการณ์นี้ทำให้ป่าชายเลนมีที่ดินใหม่เกิดขึ้นเสมอ เรียกได้ว่า แม่น้ำสร้างดิน ดินสร้างป่า และป่าก็สร้างทะเล
ความสวยงามของเส้นสายในป่าชายเลน ไม่ว่าจะเป็นเส้นสายของสายน้ำที่ไหลคดเคี้ยว หรือเส้นสายของรากค้ำยันต้นโกงกาง จึงเป็นทั้งภาพที่สวยงามเมื่อมองผ่านกล้องถ่ายภาพ และเป็นภาพที่มีความหมายอันดีงามยิ่งแล้ว./
เมื่ออยู่บนยอดเขาฝาชี อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง จะมองเห็นแม่น้ำละอุ่นไหลโค้งไปบรรจบกับแม่น้ำกระบุรี ที่แผ่กว้างออกสู่ทะเลอันดามัน เป็นหนึ่งในภาพทิวทัศน์แม่น้ำและป่าชายเลนที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย
แม่น้ำสองสายนี้มีความยาวไม่มากนัก แต่เพราะมีต้นทางเป็นป่าบนภูเขาสูง ตะกอนดินที่มีแร่ธาตุดีๆ จึงถูกลำเลียงลงมาตามสายน้ำ และสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ป่าชายเลนของจังหวัดระนอง ซึ่งนับได้ว่าเป็นป่าชายเลนผืนใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ชมภาพประกอบบทความชุดนี้
ในแกลเลอรี่ออนไลน์