top of page

เกาะเต่า
โรงเรียนเก่า และบ้านเกิด

เรื่อง และภาพ : บุญฤทธิ์ ไตรสุธรรมพร

ผมไม่ได้เรียนดำน้ำจากโรงเรียนบนเกาะเต่า แต่เกาะเต่าคือความทรงจำในโลกการดำน้ำของผม เมื่อเกือบยี่สิบปีที่แล้ว ผมมาเกาะเต่าครั้งแรก และเช่ามอเตอร์ไซค์ขี่ไปตามถนนเล็ก ๆ อันทุรกันดารเพื่อไปดำน้ำตามอ่าวต่าง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ เกาะ ด้วยเงินที่มีเพียงน้อยนิด ผมเช่าหน้ากากดำน้ำพร้อมท่อสนอร์เกิลและว่ายน้ำออกไปดำน้ำด้วยตัวเอง เมื่อมองลงไปในโลกใต้น้ำที่มีความลึกเพียง 3-4 เมตร ก็สุดแสนประทับใจในภาพที่ปรากฏอยู่ตรงนั้น ผมบอกตัวเองทันทีว่าต้องกลับไปหาทางเรียนดำน้ำลึกให้สำเร็จ เพื่อจะได้เห็นโลกใต้ทะเลให้ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น หลังจากนั้นผมจึงเริ่มเรียนดำน้ำที่โรงเรียนในกรุงเทพฯ และกลับมาดำน้ำในเวิ้งอ่าวอันสวยงามที่เคยทำให้ผมประทับใจอีกครั้ง คราวนี้ผมได้เห็นสรรพสิ่งในมุมมองที่ลึกกว่าเดิม ซึ่งนั่นก็ทำให้ความรู้สึกที่มีต่อเกาะเต่านั้นลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น และหลังจากนั้นจนถึงวันนี้ ผมก็กลับไปเกาะเต่าแทบทุกปี บางปีก็หลาย ๆ ครั้ง ก็คงคล้ายกับนักดำน้ำอีกมากมายหลายคนที่ไม่สามารถนับครั้งอันมากมายเหล่านั้นได้

02_BBB9781-2.jpg

หินตาโต๊ะ สัญลักษณ์ของเกาะเต่า ซึ่งอยู่ปลายอ่าวโฉลกบ้านเก่า เป็นหนึ่งในทิวทัศน์น่าประทับใจ ซึ่งมีให้เห็นอยู่ตามชายหาดและเวิ้งอ่าวมากมายบนเกาะเต่า แต่ก็ยังไม่อาจเปรียบได้กับความมหัศจรรย์ที่ซ่อนอยู่ในโลกใต้น้ำ

เกาะเต่าในมุมมองตลอดเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย แต่ความรู้สึกที่มีต่อการเดินทางแต่ละครั้งยังไม่เปลี่ยนแปลง ผมนึกถึงครั้งแรกที่มาเยือนเกาะเต่า เรานั่งเรือเลาะเลียบไปรอบ ๆ เกาะ เห็นเวิ้งอ่าวน้อยใหญ่นับสิบแห่งรอบ ๆ เกาะ มีแนวโขดหินแกรนิตสวยงามตัดกับผืนน้ำสีเทอร์ควอย ใต้ผืนน้ำมีเงาดำราง ๆ สลับอยู่เป็นระยะ เดาได้ว่าเป็นเงาของแนวปะการังอันอุดมสมบูรณ์ เพราะมองเห็นนักดำน้ำหลายหมู่เหล่า ทั้งชาวสนอร์เกิลสวมชูชีพลอยคอชมปะการังอยู่บนผิวน้ำ ใกล้ ๆ กันนั้นก็เห็นฟองอากาศผุดจากใต้น้ำขึ้นมาเป็นระยะ เดาได้ว่าข้างใต้นั้นคือนักดำน้ำลึกแบบสกูบา ซึ่งอาจกำลังดำน้ำชมโลกใต้น้ำอย่างเพลิดเพลิน หรือบางคนก็อาจกำลังเรียนดำน้ำอยู่กับครูของเขา

 

เราสามารถเริ่มต้นเรียนดำน้ำที่นี่โดยใช้เวลาเพียง 3-4 วันสำหรับการเรียนหลักสูตรดำน้ำเบื้องต้น โดยใช้เวลาช่วงเช้าๆ กับความรู้ในห้องเรียน ใช้เวลายามบ่ายกับการฝึกทักษะการดำน้ำจริงในทะเล ก่อนที่จะออกเรือไปค้นหาประสบการณ์และทดสอบความชำนาญในแนวปะการังจริงกันในวันรุ่งขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาไม่กี่วันที่จะเปลี่ยนชีวิตและเปลี่ยนมุมมองการท่องเที่ยวทะเลของคนๆ หนึ่งไปตลอดกาล

 

นักดำน้ำหลายคนเริ่มต้นชีวิตการดำน้ำครั้งแรกที่นี่ ก่อนจะออกเดินทางไปดำน้ำแทบทุกหนแห่งทั่วโลก แต่ก็ยังกลับมาดำน้ำที่เกาะเต่าอยู่บ่อย ๆ เหมือนเกาะเต่าเป็นโรงเรียนเก่า บ้างก็ว่าเหมือนบ้านหลังที่สองอันอบอุ่น ใครก็อยากกลับมาเยือนซ้ำ เพื่อรำลึกความทรงจำกับช่วงเวลาครั้งแรก และกลับมาใช้ชีวิตในบรรยากาศสบาย ๆ บนเกาะ จึงไม่แปลกที่เราจะได้เจอะเจอเพื่อนนักดำน้ำบนเกาะเต่าโดยมิได้นัดหมาย เพราะหลาย ๆ คนก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน

3_IMG_2300-Edit.jpg

กอปะการังแข็งบนลานทรายในความลึกราว 3 เมตรของอ่าวลึก เมื่อมองจากมุมบนผิวน้ำดูคล้ายดอกไม้ในทะเล เป็นมุมมองที่นักท่องเที่ยวทั่วไปสามารถมองเห็นได้จากผิวน้ำ ซึ่งนั่นอาจสร้างความประทับใจในการอยากค้นหาความงามของโลกใต้น้ำในมิติที่ลึกมากยิ่งขึ้น

ปะการังเขากวางนั้นเติบโตได้เร็วที่สุดในจำนวนปะการังทั้งมวล ซึ่งธรรมชาติได้มอบความสามารถนี้เพื่อชดเชยกับความเปราะบางของมัน ปะการังเขากวางจึงมักเป็นทัพหน้าในการเข้ามายึดครองพื้นที่ สร้างความอุดมสมบูรณ์ก่อนที่จะมีสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เข้ามาอิงอาศัย

6_A658859.jpg
5_DSC1446-2.jpg

ฟองน้ำครกขนาดใหญ่ตั้งอยู่โดดเด่นกลางดงปะการังเขากวาง ฟองน้ำชนิดนี้เป็นสัตว์ที่หากินด้วยการดูดกรองน้ำทะเลเพื่อดักจับกินแพลงตอน มันจึงทำหน้าที่เหมือนเป็นเครื่องกรองน้ำแห่งท้องทะเลไปโดยปริยาย

4_A658909-Edit.jpg

แสงอาทิตย์ยากบ่ายส่องระยิบระยับเหนือแนวปะการังเกาะนางยวน ปะการังแข็งส่วนใหญ่ต้องการแสงสว่าง เพราะมันพึ่งพาอาศัยสาหร่ายซูแซนแทนลีในการหาอาหาร สาหร่ายต้องการแสงสว่างในการสังเคราะห์แสงปรุงอาหาร และแบ่งอาหารให้ตัวปะการังได้กิน เราจึงมักพบปะการังแข็งในพื้นที่น้ำตื้นซึ่งแสงสว่างส่องถึง

4_A658902-Edit-2.jpg

...........................................................

พื้นที่ปลอดภัยในโลกสีคราม

 

สำหรับผม การกลับมาดำน้ำที่เกาะเต่าก็คล้ายการได้เดินเล่นในสวนสาธารณะใกล้บ้านที่มีโอกาสไปบ่อย ๆ รู้สึกได้ถึงความปลอดภัย คุ้นเคย และมีความสุขเสมอ เพราะจุดดำน้ำส่วนใหญ่ของเกาะเต่าเป็นจุดดำน้ำที่อยู่ตามอ่าวซึ่งปลอดคลื่นลม ไร้กระแสน้ำ และมีระดับความลึกที่ไล่ระดับทีละน้อย ๆ อันเป็นสภาพภูมิประเทศที่ง่ายต่อการดำน้ำ จุดดำน้ำบนเกาะเต่าจึงเหมาะสำหรับการฝึกฝนนักเรียนดำน้ำมือใหม่ และการออกรอบของนักดำน้ำที่มีประสบการณ์

 

เพราะเกาะเต่านั้นเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ สำหรับนักดำน้ำ รวมถึงสรรพชีวิตที่ใช้ชีวิตอยู่ใต้น้ำ

 

สัตว์ทุกชนิดต้องการพื้นที่ปลอดภัย และแนวปะการังก็คือพื้นที่ปลอดภัยสำหรับสัตว์ทะเลมากมาย ปะการังที่เกาะเต่าส่วนใหญ่เป็นปะการังแข็ง แม้จะไม่มีสีสันสดใสเหมือนปะการังอ่อนและกัลปังหาซึ่งมักพบในทะเลอันดามันมากกว่า แต่เมื่อปะการังแข็งทั้งหลายมาตั้งเรียงรายอยู่ใต้ทะเล และมีฝูงปลาเล็กปลาน้อยว่ายคลอเคลีย มันคือภาพที่มีชีวิตชีวาเกินจะบรรยาย

 

บางทีเราอาจจะพบปะการังโต๊ะขนาดใหญ่แผ่กว้างออกรับแสงแดด เมื่อเข้าไปดูใกล้ ๆ ก็พบว่าใต้เงาปะการังกอใหญ่นั้นยังมีปลาโนรีแอบอยู่อย่างเงียบ ๆ หรือบางที ขณะที่เรากำลังดำน้ำสำรวจไปตามทุ่งปะการังเขากวางอันกว้างใหญ่ ก็อาจสังเกตเห็นปลาเล็ก ๆ จำนวนมากมายนับไม่ถ้วน แอบอิงอาศัยอยู่ในโครงสร้างอันซับซ้อนของกิ่งก้านเขากวาง

 

ปะการังเขากวางเป็นปะการังที่ผมคุ้นตาที่สุดในบรรดาปะการังทั้งหลาย คงเพราะรูปร่างที่คล้ายเขากวางตามชื่อที่ตั้งไว้ อีกทั้งยังพบได้จำนวนมากในพื้นที่น้ำตื้น ๆ ที่มีน้ำใส ไร้คลื่น และแสงสว่างส่องถึง เนื่องจากปะการังเขากวางต้องการแสงสว่างในการเติบโตและดำรงชีพ ที่ที่ปะการังเขากวางอยู่จึงมักเป็นพื้นที่ปลอดภัย และการดำน้ำท่ามกลางทุ่งปะการังเขากวางก็มักจะให้ความรู้สึกผ่อนคลายและเพลิดเพลินเช่นเดียวกัน

 

ผมสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงบนทุ่งปะการังเขากวางมากที่สุด เมื่อราวสิบปีที่แล้ว มีปรากฏการณ์เอลนีโญ หรืออุณหภูมิน้ำทะเลสูงผิดปกติ ทำให้สาหร่ายเซลเดียวชนิดหนึ่งที่อิงอาศัยอยู่กับปะการังเหล่านี้หลุดออก เมื่อไร้สาหร่าย ปะการังก็อยู่ไม่ได้ ใต้ทะเลเกาะเต่าในตอนนั้นเต็มไปด้วยทุ่งปะการังเขากวางสีขาวโพลน เหมือนทุ่งหิมะใต้ทะเลอันสวยงาม แต่ความสวยงามเหล่านี้คือความตาย เหมือนโครงกระดูกขาวโพลนที่รอวันแหลกสลาย  แต่หลังจากนั้นไม่กี่ปี ทุ่งปะการังเขากวางก็กลับฟื้นคืนชีวิตมาอย่างไม่น่าเชื่อ

 

ธรรมชาติได้สร้างให้ปะการังชนิดนี้เติบโตเร็วที่สุดในบรรดาปะการังทั้งมวลเพื่อชดเชยกับความบอบบางของปะการังเขากวางซึ่งแตกหักง่ายที่สุด เราอาจพอรู้ว่าปะการังบางชนิดโตเพียงปีละไม่กี่มิลลิเมตร แต่สำหรับปะการังเขากวาง ในปีหนึ่งอาจงอกยาวได้ถึง 5 เซนติเมตร ปะการังเขากวางจึงมีบทบาทเป็นทัพหน้าในการเข้ามาเบิกนำและสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่โลกใต้ท้องทะเลก่อนที่จะมีสัตว์น้ำและปะการังชนิดอื่นๆ เข้ามาอยู่อาศัยต่อไป

13_A655747.jpg

แส้ทะเลสีสันสวยงามขึ้นอยู่ตามกองหินกลางทะเลที่มีกระแสน้ำ หน้าตาที่ดูคล้ายพืช แต่ที่จริงแล้วคือสัตว์ที่หากินด้วยการดักจับแพลงตอนในกระแสน้ำกินเป็นอาหาร

14IMG_3796-2.jpg
15_IMG_3872-2.jpg
16IMG_2096-2.jpg
17_DSC7500-3.jpg

กองหินชุมพร หนึ่งในกองหินกลางทะเลใกล้เกาะเต่า ความโดดเด่นคือมีดอกไม้ทะเลขึ้นอยู่เต็มยอดกองหิน และมีฝูงปลามากมายอาศัยแนวปะการังนี้เป็นบ้าน

....................................

จุดดำน้ำที่ท้าทาย

 

ชีวิตคนเรานั้นต้องการพื้นที่ปลอดภัย แต่ก็แสวงหาความท้าทาย

 

โลกของการดำน้ำที่เกาะเต่าก็เช่นกัน ในรัศมีรอบ ๆ เกาะเต่านั้นยังมีกองหินต่าง ๆ กลางทะเลมากมาย กองหินเหล่านี้เหมือนภูเขาใต้น้ำ สภาพภูมิประเทศจึงแตกต่างจากพื้นทะเลเรียบ ๆ ในเวิ้งอ่าวอย่างสิ้นเชิง บางทีก็อาจจะมีกระแสน้ำไหลผ่าน ซึ่งสิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างกันออกไป

 

สิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่งที่ผมชื่นชอบเป็นพิเศษคือแส้ทะเล ซึ่งเราสามารถพบได้เยอะเป็นพิเศษที่กองหินตุ้งกู หรือกองหินเซาท์เวสต์ (Southwest Pinnacle) หน้าตาของแส้ทะเลเหล่านี้จะดูเหมือนพืชมากกว่าสัตว์ ธรรมชาติได้ออกแบบให้มันหากินด้วยการดักจับอาหารในกระแสน้ำกิน แส้ทะเลเหล่านี้จึงดูสวยและมีชีวิตชีวาเป็นพิเศษ เมื่อโบกพลิ้วไปกับกระแสน้ำที่ไหลอ่อน ๆ และจะตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่งเมื่อถ่ายภาพด้วยแสงไฟแฟลชซึ่งจะช่วยให้ได้เห็นสีแดงสดใสสะดุดตา อันเป็นสีที่แท้จริงของมัน

 

กองหินชุมพรเป็นอีกจุดดำน้ำที่ได้รับความนิยมเช่นกัน กองหินนี้เปรียบเสมือนภูเขาใต้น้ำที่ประดับประดาด้วยดอกไม้ทะเลโบกพลิ้วไหวสวยงาม และด้วยเป็นกองหินอันอุดมสมบูรณ์ในทะเลเปิด จึงมีปลาฝูงใหญ่เข้ามาอาศัยมากมายหลากหลายชนิด ทั้งปลาข้างเหลือง ปลาธรรมดา ๆ ที่เมื่ออยู่รวมกันเป็นพันเป็นหมื่นตัวก็แลดูน่าตื่นตาตื่นใจ ดูผิวเผินเหมือนเด็กนักเรียนตัวน้อย ๆ กำลังเดินเรียงแถวไปทัศนศึกษา ทำให้นึกถึงคำว่า “School of fishes” ที่แปลว่าฝูงปลา ช่างล้อกันระหว่างนักเรียนดำน้ำและนักเรียนปลาน้อย

 

สำหรับใครที่ชอบว่ายน้ำท่ามกลางฝูงปลาเป็นชีวิตจิตใจ คงไม่ปฏิเสธที่จะได้ไปเยือนหินใบ (Sail Rock) กองหินนี้อยู่ไกลจากเกาะเต่าค่อนข้างมาก การเดินทางจึงอาจจะยากสักหน่อย หน้าตาของกองหิน หากมองจากเหนือผิวน้ำก็แสนจะธรรมดา เพราะเป็นเพียงโขดหินโผล่พ้นน้ำขนาดไม่ใหญ่ แต่ถ้าไม่ดำน้ำลงไปดูคงไม่รู้ว่าเบื้องล่างนั้นคือภูเขาใต้น้ำขนาดมหึมาซึ่งทอดตัวลงสู่ความลึกกว่า 35 เมตร แต่เราอาจไม่ต้องดำน้ำลงไปลึกถึงขนาดนั้น เพราะเพียงทิ้งตัวให้จมลงสู่ใต้น้ำไม่เท่าไหร่ก็มีฝูงปลาน้อยใหญ่มารายล้อม จนเหมือนได้ยินเสียงจอแจดังอยู่รอบ ๆ ตัว

 

ครั้งหนึ่งที่ผมไปดำน้ำที่กองหินใบ วันนั้นผมดำน้ำออกไปที่กองหินเล็ก ๆ ซึ่งแยกออกไปจากกองหินหลักเล็กน้อย ในความลึกยี่สิบกว่าเมตร ขณะที่กำลังจดจ้องช่องมองภาพถ่ายฝูงปลาอยู่นั้น พลันก็ปรากฏร่างยักษ์ใหญ่ของปลาที่มีขนาดราว 4-5 เมตร เข้ามากลางเฟรมภาพ ดูรูปร่างก็เดาได้ไม่ยากว่านั่นคือปลาฉลามวาฬ ซึ่งแวะเวียนเข้ามาที่กองหินใบอยู่บ่อยครั้ง

 

ในโลกของปลา กองหินและแนวปะการังก็เหมือนเมืองขนาดใหญ่ที่มีระบบสาธารณูปโภค และมีทุกสิ่งอย่างที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของประชากร ซึ่งในที่นี้หมายถึงฝูงปลาที่ใช้กองหินใบเป็นทั้งบ้านอันปลอดภัยและเป็นแหล่งหากินอันอุดมสมบูรณ์ และเมื่อมีฝูงปลาเล็กก็มักจะมีปลาใหญ่ซึ่งอาจไม่ได้มาในฐานะผู้ล่าเสมอไป แต่ยังมีปลาใหญ่ผู้โอบอ้อมอารีอย่างปลาฉลามวาฬ ซึ่งแม้จะเป็นปลาในตระกูลสัตว์ร้ายอย่างฉลาม แต่มีขนาดใหญ่จนได้ชื่อวาฬต่อท้าย และได้รับตำแหน่งเป็นปลาขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่กินอาหารขนาดเล็กที่สุดในโลกอย่างแพลงตอน

 

เมื่อเราพบปลาใหญ่อย่างฉลามวาฬ ก็มักพบฝูงปลาเล็กปลาน้อยมากมายที่ว่ายตามเป็นขบวน ปลาฉลามวาฬมักจะเข้ามาในกองหินเพื่อจุดประสงค์สองอย่าง คือกินและทำความสะอาดร่างกาย เราจะเห็นปลาฉลามวาฬว่ายน้ำช้า ๆ พลางอ้าปากเพื่อกรองกินแพลงตอนในกระแสน้ำ ส่วนปลาเล็กปลาน้อยก็คอยตอดกินปรสิตที่เกาะอยู่ตามลำตัวอันใหญ่ยักษ์จนสะอาดเอี่ยมอ่อง นับว่าเป็นการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างปลาเล็กและปลาใหญ่ในโลกที่สวยงามใบนี้

 

ด้วยเวลาอันจำกัดของการดำน้ำ ทำให้ผมต้องตัดใจจากภาพอันสวยงามนั้นทั้ง ๆ ที่ยังไม่อยาก นี่คงเป็นเหตุผลที่นักดำน้ำแทบทุกคนอยากกลับไปเยือนสถานที่เดิม ๆ จนเราอาจเรียกสถานที่บางแห่งได้ว่าเป็นบ้านหลังที่สอง เป็นบ้านที่เราไม่เคยเบื่อ แม้จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งในทางที่ดีขึ้นและแย่ลงก็ตาม แต่ยังคงมีคำถามที่เราต้องตอบ ถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกใต้น้ำอันเกิดจากการกระทำในชีวิตประจำวันของเรา

 

เราอาจไปเยือนสถานที่ใดบ่อย ๆ แต่สุดท้ายเราก็กลับไปอยู่ในเมืองใหญ่ของเรา และก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า กิจกรรมในเมืองใหญ่ของเราหลายอย่างก็ส่งผลต่อโลกใต้น้ำ เช่น ขยะพลาสติกในชีวิตประจำวันของเราอาจเล็ดลอดลงสู่ทะเล นานวันเข้า มันก็แตกตัวกลายเป็นไมโครพลาสติกขนาดเล็กจิ๋วเจือปนอยู่ในน้ำทะเล อันเป็นภยันตรายต่อสัตว์น้ำหลายชนิด.. ปลาฉลามวาฬซึ่งกำลังอ้าปากกรองกินแพลงตอนก็เป็นหนึ่งในนั้น

 

เกาะเต่าเป็นบ้านหลังที่สองของเรา แต่สำหรับพวกเขา นี่คือบ้านหลังเดียวที่มี

ปลาฉลามวาฬท่ามกลางฝูงปลาน้อยใหญ่ที่กองหินใบ ปลาชนิดนี้มีรัศมีการหากินหลายร้อยกิโลเมตร แต่มักจะแวะเวียนเข้ามาหากินในแนวปะการัง และทำความสะอาดร่างกายด้วยการว่ายน้ำช้า ๆ ให้ปลาขนาดเล็กบางชนิดตอดกินปรสิตที่เกาะอยู่ตามตัว นับเป็นความสัมพันธ์ระหว่างปลาเล็กและปลาใหญ่ที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในฐานะผู้ล่าและผู้ถูกล่าเสมอไป

19_A659027-Edit.jpg

ขอขอบคุณ

กรมประชาสัมพันธ์

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

 

bottom of page